ประวัตินกหวีด
โดย ดร. เลอสรร ธนสุกาญจน์
ปรับปรุงจาก หนังสืออนุสรณ์งงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์สมจิต ธนสุกาญจน์ 3 สิงหาคม 2557
ระหว่าง พ.ศ. 2556 - 2557 นกหวีดถูกใช้เป็นสัญญลักษณ์ในการชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทย ผู้ที่เดินทางผ่านบริเวณที่มีการชุมนุม จะได้เห็นนกหวีดเป็นร้อยๆ แบบ ที่พ่อค้าแม่ค้านำมาขายอยู่สองข้างทางพร้อมกับสายห้อยคอลายธงไตรรงค์ ผู้คนส่วนใหญ่ที่ไปชุมนุมกับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และองค์กรเครือข่าย ก็ซื้อหานกหวีดมาห้อยคอ หลายคนมีนกหวีดมากกว่าหนึ่งตัว บ้างก็เริ่มสะสมนกหวีด บางคนมีนกหวีดหลายสิบตัวหรืออาจจะถึงร้อยตัว แต่คงจะมีน้อยคน ที่สนใจศึกษาความเป็นมาของนกหวีด และเทคโนโลยีเบื้องหลังการที่นกหวีดสร้างเสียงได้ และการที่นกหวีดต่างชนิดกันให้เสียงต่างกัน รวมทั้งการวัดความดังของนกหวีดด้วย ผู้เขียนซึ่งเป็นอาจารย์ในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นเป็นโอกาสในการเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วไปสู่ประชาชน จึงได้เริ่มเขียนหนังสือขนาด 20 บท เกี่ยวกับนกหวีดขึ้น บังเอิญยังเขียนไม่ทันเสร็จ คุณแม่ของผู้เขียนซึ่งมีอายุ 91 ปีแล้วก็ได้ถึงแก่กรรมลงไปเสียก่อน ผู้เขียนจึงได้นำเรื่องประวัตินกหวีด ซึ่งเป็นบทต้นๆ บทหนึ่งในยี่สิบบทของหนังสือซึ่งกำลังเขียนอยู่นั้น มาปรับให้เป็นเรื่องหนึ่งในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของคุณแม่ หลังจากงานพระราชทานเพลิงศพแล้ว ยังมีผู้สนใจสอบถามถึงบทความเรื่องนกหวีด ผู้เขียนจึงได้นำออกเผยแพร่ทางเว็บไซต์ เพื่อให้เป็นตัวอย่างของการพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งต้องอาศัยทั้งเทคโนโลยี เงินทุน การตลาด และความมุ่งมั่นของผู้พ้ฒนา จึงจะประสบความสำเร็จ
นกหวีดโบซัน
โดย ThoKay 21:11, 18 August 2007 (UTC) - Own work, CC BY-SA 3.0,
https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=2583194
โดย ThoKay 21:11, 18 August 2007 (UTC) - Own work, CC BY-SA 3.0,
https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=2583194
500 ปีก่อนคริสตกาล - ค.ศ. 1830
เป็นที่เข้าใจกันว่า การเป่าที่มนุษย์รู้จักใช้สร้างเสียงหวีดมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ได้แก่ การเป่าอุ้งมือ และการเป่าใบหญ้า มนุษย์รู้จักสร้างและเป่านกหวีดแบบง่ายๆ เป็นเสียง วี้ด วี้ด มาหลายพันปี นกหวีดใช้เป่าในพิธีกรรม ใช้เป่าเป็นสัญญาณ และใช้เป่าเพื่อความสนุกสนานของเด็กๆ ในยุคกรีกและโรมัน (ประมาณสมัยพุทธกาล) มีการใช้เสียงนกหวีดเป็นสัญญาณให้จังหวะแก่ฝีพายบนเรือรบ ต่อมาในยุคกลาง นกหวีดถูกใช้เป็นเครื่องมือให้สัญญาณแก่พลหน้าไม้บนดาดฟ้าเรือเพื่อควบคุมการยิง ซึ่งต่อมานกหวีดได้กลายมาเป็นอุปกรณ์ให้สัญญาณของทหารเรือ ที่เรียกว่า นกหวีดเรือ หรือ “นกหวีดโบซัน” (boatswain whistle ซึ่งสะกดเป็นภาษาอังกฤษอย่างนี้แหละ แต่อ่านว่า "โบซัน")
แรทเทิล (rattle)
รูปซ้ายเป็นแรทเทิลแบบเสียงเดียวที่ตำรวจอังกฤษสมัยโบราณใช้ ด้ามพับไม่ได้ เวลาใช้งาน จับตรงด้ามจับแล้วเหวี่ยงให้แรทเทิลหมุนรอบตัว มันจะสร้างเสียงกวนประสาทออกมา รูปขวาเป็นแรทเทิลทั่วไปแบบสองเสียง จะเห็นได้ว่ามีสปริงสั่นสองชิ้น และมีเฟืองสองตัว แรทเทิลที่มีสามเสียงขึ้นไปก็มีผู้ประดิษฐ์ไว้ แต่มีขนาดเทอะทะมาก
ที่มา: รูปซ้ายจาก http://www.thegreenwichphantom.co.uk/wp-content/uploads/2011/04/police-rattle-300x178.jpg รูปขวาจาก http://metc.org/IMAGES/rattle.jpg
รูปซ้ายเป็นแรทเทิลแบบเสียงเดียวที่ตำรวจอังกฤษสมัยโบราณใช้ ด้ามพับไม่ได้ เวลาใช้งาน จับตรงด้ามจับแล้วเหวี่ยงให้แรทเทิลหมุนรอบตัว มันจะสร้างเสียงกวนประสาทออกมา รูปขวาเป็นแรทเทิลทั่วไปแบบสองเสียง จะเห็นได้ว่ามีสปริงสั่นสองชิ้น และมีเฟืองสองตัว แรทเทิลที่มีสามเสียงขึ้นไปก็มีผู้ประดิษฐ์ไว้ แต่มีขนาดเทอะทะมาก
ที่มา: รูปซ้ายจาก http://www.thegreenwichphantom.co.uk/wp-content/uploads/2011/04/police-rattle-300x178.jpg รูปขวาจาก http://metc.org/IMAGES/rattle.jpg
ค.ศ. 1830 - ค.ศ. 1883
ตำรวจอังกฤษเริ่มใช้นกหวีด
ในคริสตศตวรรษที่ 18 (ระหว่าง ค.ศ. 1701 ถึง 1800) อุปกรณ์สร้างเสียงในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่สามารถพกพาไปกับตัว ได้แก่ แรทเทิล (rattle) ที่ปัจจุบันเห็นได้ในของเล่นสำหรับเด็กเล็กๆ มีลักษณะเป็นเฟืองที่มีแกนหมุนเป็นด้ามจับ และมีแผ่นสปริงหนึ่งหรือสองแผ่นติดขนานกันให้หมุนรอบเฟืองนั้นได้ โดยมีตุ้มน้ำหนักถ่วงอยู่ตรงจุดที่อยู่ไกลจากแกนหมุนเฟืองมากที่สุด (โปรดดูรูปประกอบในหน้า 3) เมื่อผู้ใช้จับด้ามจับและหมุนเหวี่ยงเป็นวงกลม แผ่นสปริงจะถูกตุ้มน้ำหนักถ่วง เหวี่ยงให้หมุนรอบเฟือง ทำให้เกิดเสียง คลิก ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ เมื่อแผ่นสปริงตีเข้ากับแต่ละซี่ของเฟือง จนต่อเนื่องกันเป็นเสียง แกร๊ก…. ตลอดเวลาที่เฟืองยังถูกหมุนอยู่ สามารถใช้เป็นสัญญาณฉุกเฉิน เอาไว้สำหรับเรียกชาวบ้านให้ออกมาช่วยกันจับนักย่องเบาเป็นต้น แรทเทิลจึงเป็นอุปกรณ์ประจำตัวของยามเฝ้าหมู่บ้าน อันที่จริงเริ่มมีการใช้ไซเร็น (siren) กันแล้วก่อนปลายคริสตศตวรรษที่ 18 แต่ไซเร็นรุ่นแรกๆ ยังมีขนาดใหญ่ พกพาไม่สะดวก จึงมักใช้ไซเร็นเป็นสัญญาณฉุกเฉินบนรถดับเพลิง หรือเป็นสัญญาณเตือนให้ประชาชนลงหลุมหลบภัยทางอากาศ เป็นต้น
ตำรวจอังกฤษสมัยนั้นได้รับอิทธิพลมาจากยาม ในการใช้แรทเทิลสำหรับสร้างเสียงประหลาดเพื่อเป็นสัญญาณฉุกเฉิน หรือใช้สำหรับขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจคนอื่น แรทเทิลรุ่นพับด้ามได้นี้มีสปริงแผ่นเดียวจึงมีขนาดเล็กพอที่จะเก็บไว้ในกระเป๋าของตำรวจนอกเครื่องแบบได้ ในกรณีตำรวจนอกเครื่องแบบที่กำลังปฏิบัติภารกิจ เช่น แฝงตัวเข้าไปในฝูงชนเพื่อจับกุมนักล้วงกระเป๋า ก็จะต้องมีของสามสิ่งติดตัวไปด้วย ได้แก่ บัตรประจำตัวตำรวจ กระบองเล็กชนิดพกซ่อนได้ และแรทเทิลขนาดเล็กรุ่นพับด้ามได้ดังกล่าวแล้ว
เมื่อรัฐบาลของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย ก่อตั้งกองตำรวจมหานครลอนดอน หรือเมโทรโปลิตันโปลิศ (Metropolitan Police) ที่เรียกันย่อๆ ว่า เดอะเม็ท (The Met) ขึ้นในปี ค.ศ. 1829 นั้น ตำรวจอังกฤษก็ยังใช้แรทเทิลสำหรับสร้างเสียงกวนประสาทเพื่อเป็นสัญญาณฉุกเฉินอยู่ แม้ว่าจะมีผู้ประดิษฐ์หวูด ซึ่งที่จริงก็คือนกหวีดขนาดยักษ์ สำหรับรถจักรไอน้ำขึ้นใน ค.ศ. 1833 อย่างไรก็ตามในช่วงเวลา 30 ปีต่อมา กองตำรวจตามเมืองต่างๆ ในสหราชอาณาจักร ได้เริ่มใช้นกหวีดกันประปราย เช่น ตำรวจของเมืองแลงคาชเชีย (Lancashire) เริ่มใช้นกหวีดกันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1859 ถึงแม้นกหวีดในยุคนั้นจะเป็นนกหวีดเสียงเดียวที่เป่าแล้วดัง วี้ด วี้ด ซึ่งรบกวนประสาทน้อยกว่าเสียงแรทเทิล แต่ก็มีขนาดเล็ก พกพาได้สะดวกกว่าแรทเทิลมาก
ค.ศ. 1860 - ค.ศ. 1878
กำเนิดนกหวีดแอ็คมี่ ของสองพี่น้องตระกูลฮัดสัน
ตำนานของนกหวีดแอ็คมี่เริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1860 ที่เมืองเบอร์มิงแฮม (Bermingham) สหราชอาณาจักร โจเซฟ ฮัดสัน (Joseph Hudson, 1848-1930) ซึ่งมีอายุเพียง 12 ขวบ เริ่มเข้าทำงานในโรงงานผลิตเครื่องมือเล็กๆ น้อยๆ ของทหาร รวมทั้งผลิตนกหวีดด้วย ชื่อ เบ็นท์แอนด์ปาร์คเกอร์ (Bent & Parker) ต่อมาใน ค.ศ. 1870 เมื่อโจเซฟมีอายุ 22 ปี เขาก็ลาออกมาร่วมกับน้องชายชื่อเจมส์ (James Hudson, 1850-1888) ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 20 ปี ก่อตั้งกิจการผลิตนกหวีด เจ ฮัดสัน แอนด์คัมปะนี (J. Hudson & Company) ซึ่งเรามักจะเรียกกันว่า บริษัท เจ ฮัดสัน ภายใต้ยี่ห้อ “แอคมี” (Acme Whistle) ซึ่งมาจากภาษากรีกที่แปลว่า จุดสูงสุด โดยตั้งใจให้ผู้บริโภคคิดเชื่อมโยงความหมายไปถึงนกหวีดที่มีเสียงดังมากที่สุด ในระยะแรกโรงงานผลิตนกหวีดของ เจ ฮัดสัน แอนด์โค ถูกดัดแปลงมาจากห้องน้ำในห้องเช่าเล็กๆ กลางย่านอัญมณี (Jewellery District) ใกล้จตุรัสเซนต์มาร์คส์ (St. Marks Square) ในเมืองเบอร์มิงแฮมนั่นเอง
ค.ศ. 1878
กรรมการฟุตบอลล์ เริ่มเป่านกหวีดแทนโบกผ้าเช็ดหน้า
สมัยก่อนที่กรรมการฟุตบอลล์จะใช้เสียงนกหวีดเป็นสัญญาณในการควบคุมการแข่งขันนั้น กรรมการนิยมโบกผ้าเช็ดหน้าเป็นสัญญาณ เนื่องจากไม่สามารถตะโกนแข่งกับเสียงเชียร์ของแฟนๆ ฟุตบอลล์ได้ นกหวีดที่ได้รับการใช้เป็นสัญญาณของกรรมการฟุตบอลล์เป็นครั้งแรกในการแข่งขันที่สนามน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ (Nottingham Forest’s ground) เมื่อ ค.ศ. 1878 น่าจะเป็นนกหวีดทองเหลืองภายใต้ยี่ห้อ “แอ็คมี่ ซิตี้” ซึ่งสองพี่น้องตระกูลฮัดสันเริ่มผลิตออกขายในปี 1875 ถึงแม้นกหวีดรุ่นนี้จะยังไม่มีเม็ดกลมอยู่ข้างใน เสียงของมันก็ดังและมีความโดดเด่นพอที่ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายและผู้ชมจะได้ยินและไม่เข้าใจผิดว่าเป็นเสียงอื่น ทำให้นกหวีดได้เข้าไปทดแทนผ้าเช็ดหน้า ในฐานะเครื่องมือให้สัญญาณระหว่างการแข่งขันฟุตบอลล์และกีฬาอื่นๆ ด้วยในเวลาต่อมา
นกหวีดแบบ Metropolitan ของ J. Hudson & Co.
ภายในตัวนกหวีดถูกกั้นเป็นสองห้องตามยาวเพื่อสร้างเสียงสองเสียง ซึ่งจะแทรกสอดกันเป็นเสียงที่ฟังดูหนวกหูหรือกวนประสาท จนเป็นเสียงเฉพาะตัวของนกหวีดแบบนี้โดย Oosoom at English Wikipedia - Own work, CC BY-SA 3.0,
https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=31782258
ภายในตัวนกหวีดถูกกั้นเป็นสองห้องตามยาวเพื่อสร้างเสียงสองเสียง ซึ่งจะแทรกสอดกันเป็นเสียงที่ฟังดูหนวกหูหรือกวนประสาท จนเป็นเสียงเฉพาะตัวของนกหวีดแบบนี้โดย Oosoom at English Wikipedia - Own work, CC BY-SA 3.0,
https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=31782258
ค.ศ. 1883
เจ ฮัดสัน แอนด์โค แจ้งเกิดได้จากใบสั่งซื้อนกหวีดของสก็อตแลนด์ยาร์ด
ในปี ค.ศ. 1883 สองพี่น้องตระกูลฮัดสัน ซึ่งผลิตนกหวีดมาสิบกว่าปีแล้ว ได้ข่าวว่ากรมตำรวจแห่งมหานครลอนดอนกำลังหาอุปกรณ์สร้างเสียงสัญญาณฉุกเฉิน สำหรับทดแทนแรทเทิล ซึ่งไม่สะดวกในการพกพา โดยอุปกรณ์ใหม่นี้จะต้องส่งเสียงที่ไม่เหมือนกับเสียงอื่นใดที่ชาวบ้านเคยได้ยินอยู่ตามปกติ รวมทั้งเสียงนกหวีดที่มีใช้กันอยู่ทั่วไปด้วย ใครได้ยินก็น่าจะรู้ได้ทันทีว่าเกิดเรื่องไม่ดีขึ้นแล้ว หรือรู้ว่าตำรวจกำลังขอความช่วยเหลือ มีเรื่องเล่ากันว่าในขณะที่ โจเซฟ ฮัดสัน พยายามหาวิธีสร้างเสียงกวนประสาทแบบใหม่อยู่นั้น เขาหยิบไวโอลินขึ้นมาเล่น เพื่อทดลองว่าจะสร้างเสียงแปลกๆ ขึ้นมาได้อย่างไรบ้าง ด้วยความบังเอิญเขาทำไวโอลินตกแตกกระจายกลางห้อง ขณะนั้นเองเขาก็ได้ยินเสียงแปร่งๆ จากทรากไวโอลิน ที่เกิดจากเสียงสั่นของสายไวโอลินหลายสาย รบกวนแทรกสอดกันไปมา ไม่เหมือนกับเสียงใดที่เขาเคยได้ยินมาก่อน เขารู้ทันทีว่า เขาหาวิธีสร้างเสียงใหม่ที่ฟังแล้วแสบแก้วหูให้ตำรวจได้แล้ว นี่ก็คือกำเนิดของนกหวีดตำรวจมหานครลอนดอน หรือ นกหวีดเมโทรโปลิตัน (Metropolitan Whistle) ซึ่งมีสองลำกล้องรวมกันอยู่ในนกหวีดเดียว (โปรดดูรูปประกอบในหน้า 5) เมื่อถูกเป่านกหวีดนี้จะส่งเสียงสองเสียงแทรกสอดกันออกมาเป็นเสียงเฉพาะตัว ที่ผู้คนสามารถรับรู้และจำได้แม้จะอยู่ในระยะไกลเป็นกิโลเมตร
เมื่อสองพี่น้องตระกูลฮัดสันนำนกหวีดชนิดใหม่ไปสาธิตที่กองบัญชาการตำรวจสก็อตแลนด์ยาร์ด (Scotland Yard) ในมหานครลอนดอน ผู้บัญชาการตำรวจได้ลงมือทดสอบด้วยตนเองที่สวนสาธารณะ แฮมสเตด ฮีธ (Hampstead Heath) ทางเหนือของมหานครลอนดอนจนสามารถยืนยันได้ว่านกหวีดรุ่นเมโทรโปลีตันของ เจ ฮัดสัน แอนด์โค สามารถส่งเสียงไปได้ไกลจริงตามคำโฆษณา เจ ฮัดสัน แอนด์โค จึงได้คำสั่งซื้อนกหวีดทันที 21,000 ตัว โดยได้รับเงินล่วงหน้า 20 ปอนด์สเตอร์ลิง เพื่อซื้อวัตถุดิบมาป้อนโรงงานนกหวีดรุ่นเมโทรโปลิตันนี้เป็นที่นิยมของตำรวจเป็นอย่างยิ่ง ภายในเวลาไม่นานนัก เจ ฮัดสัน แอนด์โค ก็ได้รับใบสั่งซื้อนกหวีดจากกองตำรวจทั่วสหราชอาณาจักร ทำให้ต้องเพิ่มคนงานอีก 50 คน และต้องขยายโรงงานภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี อีกไม่กี่ปีต่อมา คือใน ค.ศ. 1887 ตำรวจลอนดอนทุกโรงพักก็เลิกใช้แรทเทิล เปลี่ยนมาใช้นกหวีดรุ่นเมโทรโปลิตันกันหมด
นกหวีดรุ่น Acme Thunderer ของ J. Hudson & Co.
โดย Brandymae at the English-language Wikipedia, CC BY-SA 3.0,
https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=75379186
โดย Brandymae at the English-language Wikipedia, CC BY-SA 3.0,
https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=75379186
ค.ศ. 1884 - ค.ศ. 1890
นกหวีดที่มีเม็ดอยู่ข้างใน รุ่น แอ็คมี่ ธันเดอเรอ
ในปี ค.ศ. 1884 เพียงปีเดียวหลังจากที่ได้รับใบสั่งซื้อนกหวีดจากสก็อตแลนด์ยาร์ด เจ ฮัดสัน แอนด์โค ก็เริ่มมีฐานะทางการเงินดีขึ้น สองพี่น้องตระกูลฮัดสัน ด้วยความช่วยเหลือของลูกชายของโจเซฟ ก็ได้พัฒนานกหวีดใหม่ๆ ออกมาอีกหลายแบบ เช่น นกหวีดที่ใช้บนเรือเดินสมุทร (Mates Whistle) และนกหวีดรุ่น แอ็คมี ธันเดอเรอ (Acme Thunderer) ที่มีเม็ดอยู่ข้างใน (pea whistle) นกหวีดนี้เป็นนกหวีดรูปหอยทาก (escargot whistle) หรือที่เรียกว่ารูปแมนโดลิน (mandolin whistle ซึ่งดูตัวอย่างได้จากนกหวีดของตำรวจไทย และนกหวีดของยาม หรือ พนักงานรักษาความปลอดภัยตามสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทย หรือจะดูรูปข้างบนนี้ก็ได้) ข้างในโพรงในตัวของนกหวีด ซึ่งทำหน้าที่เป็นกล่องกำทอน (resonance cavity) ไว้สำหรับควบคุมความถี่ของเสียงนกหวีดนั้น มีเม็ดกลมเล็กๆ ขนาดพอๆ กับเมล็ดถั่ว
เม็ดนี้ทำจากไม้ก๊อก ซึ่งมาจากเปลือกของต้นโอ๊ค หรือทำจากพลาสติกในกรณีนกหวีดราคาถูก (ในอีกไม่กี่ปีต่อมา นกหวีดแบบที่มีเม็ดอยู่ข้างในก็เป็นที่นิยมของตำรวจสหรัฐอเมริกา และกรรมการแข่งขันกีฬาตั้งแต่ในทวีปยุโรปไปจนถึงทวีปออสเตรเลีย ก่อนที่จะมีนกหวีดรุ่นใหม่ๆ ที่เสียงดังมากแต่ไม่มีเม็ดข้างในออกมาแย่งตลาด เช่น นกหวีดตระกูล FOX 40) เม็ดเล็กๆ ข้างในนกหวีด ช่วยทำให้เสียงของนกหวีดสั่นระรัวในขณะที่ถูกเป่า ได้เสียงที่มีเอกลักษณ์และกวนประสาทมากกว่านกหวีดที่ไม่มีเม็ด นกหวีดชนิดนี้ทำยอดขายได้ดีกว่านกหวีดชนิดอื่นๆ มาจนถึงปัจจุบัน
ค.ศ. 1890 - ค.ศ. 1930
การแข่งขันในวงการนกหวีด
ในทศวรรษที่ 1890 เจ ฮัดสัน แอนด์โค มีบริษัทคู่แข่งเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก ยุทธศาสตร์การแข่งขันของบริษัทฯ จึงได้แก่การพัฒนานกหวีด และขอรับสิทธิบัตรโดยไม่ชักช้า นอกจากนั้น ก็ใช้วิธีซื้อบริษัทคู่แข่ง เช่น ซื้อบริษัท แบล็ค (Black & Co.) ใน ค.ศ. 1898 ซื้อบริษัท อาร์ เอ วอลตัน (R. A. Walton) ใน ค.ศ. 1904 และซื้อบริษัทนกหวีด เอส ออลด์ (S. Auld Whistles) ผู้ผลิตนกหวีดกลมทรงจมูกหมูใน ค.ศ. 1907 เป็นผลให้ผู้ผลิตนกหวีดที่เป็นคู่แข่งอื่นๆ พากันเลิกผลิตนกหวีด หันไปผลิตสินค้าอื่นแทน หรือไม่ก็ล้มเลิกกิจการไปเลยด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น บริษัท เจ บารอล (J. Barrall) เลิกผลิตนกหวีดใน ค.ศ. 1898 บริษัท สตีเวนส์ แอนด์ ซันส์ (Stevens & Sons) เลิกกิจการใน ค.ศ. 1901 บริษัทดับเบิลยู ดาวเลอร์ แอนด์ ซันส์ (W. Dowler & Sons) เลิกผลิตนกหวีดใน ค.ศ. 1904 บริษัทโคนี่ (Coney) เลิกผลิตนกหวีดในระยะเวลาใกล้เคียงกัน บริษัท เอช เอ วอร์ด (H. A. Ward) เลิกผลิตนกหวีดเมื่อราว ค.ศ. 1908 และในเวลาไล่เลี่ยกัน บริษัท ที เยทส์ (T. Yates) ก็เลิกผลิตนกหวีดไปอีกบริษัทหนึ่ง
ในปี 1909 เจ ฮัดสัน แอนด์โค เหลือบริษัทคู่แข่งเพียงบริษัทเดียว คือ เอ เดอ คัวร์ซี่ แอนด์คัมปะนี (A de Courcy & Company) ของอัลเฟรด เดอ คัวร์ซี่ (Alfred de Courcy 1866-1931) ซึ่งจะว่าไปแล้วไม่ใช่คนอื่นไกล เนื่องจากในปี ค.ศ. 1883 อัลเฟรด เดอ คัวร์ซี่ ลูกคนโตของครอบครัวชนชั้นกลางเชื้อสายไอริช ที่มาตั้งรกรากที่กรุงลอนดอนในทศวรรษที่ 1830 เริ่มเข้าทำงานในโรงงานทำนกหวีดของ เจ ฮัดสัน แอนด์โค ที่เบอร์มิงแฮม และไต่เต้าขึ้นมาเป็นหัวหน้าคนงาน ใน ค.ศ. 1888 เขาลาออกจาก เจ ฮัดสัน แอนด์โค แล้วระดมทุนตั้งโรงงานผลิตนกหวีดขึ้นมาเป็นคู่แข่งภายใต้ชื่อของเขาเอง คัวร์ซี่ใช้ประสบการณ์งานโลหะของเขา ในการออกแบบนกหวีดแบบใหม่ๆ จนได้รับสิทธิบัตรนกหวีดมากกว่า 10 ฉบับ ทำให้ เอ เดอ คัวร์ซี่ แอนด์โค กลายเป็นคู่แข่งสำคัญของ เจ ฮัดสัน แอนด์โค ต้นตำรับนกหวีด จนสามารถเอาชนะยอดขายจาก เจ ฮัดสัน แอนด์โค ได้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1906 เป็นต้นมา
ในทศวรรษที่ 1900 นั้นเอง เริ่มมีการวิจัยและพัฒนาในหลายประเทศ ในการใช้วัสดุสังเคราะห์ สำหรับผลิตนกหวีด แทนการใช้โลหะ ซึ่งมีประวัติย้อนหลังไปได้ถึงปลายคริสตศตวรรษที่ 18 ในปี ค.ศ. 1906 มีความพยายามที่ไม่สำเร็จผล ในการใช้ยางธรรมชาติมาทำเป็นนกหวีด โดยใช้วิธีการที่คล้ายคลึงกับการใช้ยางธรรมชาติในการผลิตยางรถยนต์ในปัจจุบัน ต่อมาในปี ค.ศ. 1914 เริ่มมีผู้ทดลองสร้างนกหวีดจากพลาสติกขึ้นได้ พลาสติกชนิดแรกที่มีการนำมาหล่อเป็นนกหวีด ได้แก่ เบเคอไลท์ (bakelite) ซึ่งเป็นเทอร์โมเซตติ้งพลาสติกยุคโบราณประเภทฟีนอล ฟอร์มาลดีไฮด์
ในทศวรรษที่ 1910 เจ ฮัดสัน แอนด์โค จึงต้องดำเนินการแข่งขันเชิงรุกที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น ดัวยการขยายตลาดออกไปในยุโรป มีการตั้งสำนักงานในกรุงปารีส จัดพิมพ์แคตาล็อกอย่างดีเป็นภาษาฝรั่งเศส และขยายตลาดออกไปถึงสหรัฐอเมริกา ผ่านทางบริษัทขายเครื่องกีฬา
หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในทศวรรษที่ 1920 ลูก หลาน และเหลน ตระกูลฮัดสัน บริหารกิจการของ เจ ฮัดสัน แอนด์โค ต่อเนื่องกันมา โดยได้ปรับปรุงนกหวีดรุ่น แอ็คมี ธันเดอเรอ ที่คุณทวดออกแบบไว้ให้มีขนาดเล็กลง มีเสียงโหยหวนขึ้น และมีปากเป่าที่เรียวลงเพื่อให้เป่าได้ง่ายขึ้น เหมาะสำหรับกรรมการกีฬา ที่ต้องใช้ปากคีบนกหวีดอยู่ครั้งละเป็นเวลานาน จนมีตัวอย่างการใช้งานในการแข่งขันกีฬาที่มีผู้ชมกว่าแสนคน
การแข่งขันในวงการผลิตนกหวีดสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1927 เมื่อ เอ เดอ คัวร์ซี่ แอนด์โค ถูก เจ ฮัดสัน แอนด์โค ซื้อกิจการไป โดยเป็นการซื้อทั้งหุ้นบริษัท เครื่องมือในโรงงาน และสิทธิบัตรทั้งหมดของเดอคัวร์ซี่ ทำให้ เจ ฮัดสัน แอนด์โค กลับมาเป็นบริษัทนกหวีดที่ใหญ่ที่สุดในโลก อนึ่ง สำหรับนกหวีดล็อตสุดท้ายที่เดอ คัวร์ซี่ ผลิตเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้ประทับตราบริษัทนั้น เจ ฮัดสัน แอนด์โค ก็ซื้อเหมาล็อตไปประทับตราของเจ ฮัดสัน กลายเป็นนกหวีดพันธุ์ทางรุ่นหายากรุ่นหนึ่งสำหรับนักสะสมนกหวีด
ค.ศ. 1930 - ค.ศ. 1948
ก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
ในทศวรรษที่ 1930 เจ ฮัดสัน แอนด์โค ต้องต่อสู้กับการแข่งขันจากนกหวีดที่ทำจากวัสดุต่างๆ ชนิดกัน ตั้งแต่ ดีบุก พลาสติก และโลหะผสม ซึ่งผลิตจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก เยอรมนี ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
สี่ปีก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง คือเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1940 โรงงานผลิตนกหวีดแอ็คมี ถูกทำลายไปเกือบทั้งหมดจากการทิ้งระเบิดของเยอรมนี แม้จะไม่มีผู้ได้รับอันตราย แต่ก็นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของบริษัทฯ เพื่อเป็นการตอบโต้และเปิดตลาดใหม่ไปด้วย ในช่วงเวลาห้าปีต่อมา เจ ฮัดสัน แอนด์โค จึงผลิตนกหวีดรุ่นเตือนภัยทางอากาศออกจำหน่าย และยังผลิตนกหวีดรุ่นประทับวันที่ไว้บนตัวนกหวีด ตามความต้องการของกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และองค์กรป้องกันตนเองฝ่ายพลเรือน เพื่อใช้ในการต่อสู้กับเยอรมนีอีกด้วย
ค.ศ. 1948 - ค.ศ. 1976
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ใน ค.ศ. 1949 เจ ฮัดสัน แอนด์โค ได้เปลี่ยนชื่อของบริษัทเป็น เจ ฮัดสัน แอนด์โค (วิสเซิล) จำกัด และในทศวรรษที่ 1950 และ 1960 ความต้องการนกหวีดสำหรับการกีฬายี่ห้อ แอ็คมี่ ก็เพิ่มขึ้นจากทุกทวีป
ใน ค.ศ. 1956 เริ่มมีการผลิตนกหวีดทรงหอยทาก ที่ข้างในมีเม็ดไม้ก๊อก ขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดยบริษัทโคลซอฟฟ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (Colsoff Manufacturing) ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น อเมริกัน วิสเซิ่ล คอเปอเรชั่น (American Whistle Corporation) ซึ่งในปัจจุบันยังเป็นกิจการขนาดใหญ่ที่ผลิตนกหวีดหนึ่งเดียวในสหรัฐอเมริกา และผลิตนกหวีดชนิดเดียวเท่านั้นเหมือนเมื่อแรกตั้งบริษัท และรับจ้างผลิตนกหวีดชนิดนี้ให้แก่แบรนด์อื่นๆ ด้วย (Original Equipment Manufacturing หรือ OEM) โดยมีอุปกรณ์เสริมที่สำคัญเป็นเปลือกยางสีต่างๆ สำหรับหุ้มนกหวีดทรงหอยทาก ให้เป่าได้สบายขึ้น และมีสีสดใสขึ้นด้วย
นกหวีด Fox 40 รุ่น Classic
SCKR PNCH Skateshop Catalog, https://www.suckerpunchskateshop.com/us/fox40-fox40-classic-whistle.html
SCKR PNCH Skateshop Catalog, https://www.suckerpunchskateshop.com/us/fox40-fox40-classic-whistle.html
ค.ศ. 1976 - ค.ศ. 1990
ฟ็อกซ์ 40 นกหวีดพลาสติกจากฟ็อกซ์ครอฟท์ แคนาดา
ตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 1970 นายรอน ฟอกซ์ครอฟท์ (Ron Foxcroft) แห่งเมืองแฮมิลตัน (Hamilton) รัฐออนแทริโอ (Ontario) ประเทศแคนาดา กรรมการผู้จัดการ หรืออาจจะเรียกว่าประธานกรรมการบริหาร (President) ของบริษัทฟลุกรับส่งพัสดุและโกดัง (Fluke Transport & Warehousing) เริ่มมีอาชีพพิเศษ เป็นกรรมการผู้ตัดสินการแข่งขันบาสเก็ตบอลล์ ซึ่งทำให้รอนได้เดินทางไปตัดสินการแข่งขันบาสเก็ตบอลล์เกมต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันบาสเก็ตบอลล์อาชีพ หรือการแข่งขันบาสเก็ตบอลล์สมัครเล่นระดับโอลิมปิก
ปัญหาที่รอนมักจะเจออยู่เป็นประจำในขณะเป็นกรรมการฯ ก็คือนกหวีดที่มีเม็ดกลมๆ อยู่ข้างใน มักจะไม่มีเสียงออกมาเลยถ้าผู้เป่า เป่าอย่างแรงจนเต็มกำลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่กรรมการต้องทำเป็นปกติ เนื่องจากถ้าเป่าไม่แรง เสียงของนกหวีดก็จะเบา จนผู้เล่นและผู้ดูอาจไม่ได้ยิน สาเหตุที่เสียงนกหวีดหายไปเมื่อเป่าแรง ก็เนื่องจากลูกกลมซึ่งทำจากไม้ก๊อก เข้าไปติดอยู่ในช่องลมออก เมื่อนกหวีดสกปรกจากผงฝุ่น หรือเมื่อเม็ดไม้ก๊อกเปียกน้ำฝนหรือน้ำลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง และหากนกหวีดเกิดปัญหาขึ้นเช่นนี้แล้ว กรรมการมักไม่มีโอกาสแก้ตัวเป็นครั้งที่สอง เนื่องจากเกมส์จะผ่านไปอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีผู้ใดทราบว่ากรรมการได้พยายามเป่านกหวีดแล้วแต่นกหวีดไม่มีเสียง
ใน ค.ศ. 1976 ระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เมื่อเขาเป็นกรรมการตัดสินการแข่งขันบาสเก็ตบอลล์รอบชิงชนะเลิศระหว่างยูโกสลาเวียกับสหรัฐอเมริกา รอนมองเห็นผู้เล่นยูโกสลาเวียใช้ศอกกระแทกผู้เล่นสหรัฐชื่อ เอเดรียน แดนท์ลี่ (Adrian Dantley) รอนพยายามเป่านกหวีด แต่นกหวีดไม่มีเสียง ผู้เล่นทีมยูโกสลาเวียจึงไม่ถูกลงโทษต่อหน้าคนดู 18,000 คนในสนามกีฬาและต่อหน้าผู้ชมทางโทรทัศน์ทั่วโลก รอนรูสึกอับอายมากที่เขาถูกคนดูทั้งสนามโห่ ว่ากรรมการไม่ทำหน้าที่ จึงคิดว่าจะต้องทำอะไรสักอย่างกับนกหวีดของเขา แต่เขาก็ยังคิดไม่ออกว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี
ความอดทนของรอนถึงขีดสุดใน ค.ศ. 1984 เมื่อเขาเป็นกรรมการในการแข่งขันบาสเก็ตบอลล์รอบสุดท้ายก่อนโอลิมปิก (pre-olympic final) ซึ่งบราซิลพบกับคู่แข่งในประเทศบราซิลเอง เมื่อนกหวีดของรอนไม่ทำงานตามเคยในขณะที่คู่แข่งควรจะถูกทำโทษฟาล์ว รอนตกใจกลัวมาก เพราะเขาเคยได้ยินว่าที่ประเทศบราซิลนั้น กรรมการกีฬาที่ละเลยหน้าที่จนเกิดความเสียหายต่อทีมชาติมีโอกาสจะถูกยิงหรือทำร้ายถึงชีวิตได้ รอนไม่ได้บอกว่าเขาบนสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรไว้ แต่เขาเคยให้สัมภาษณ์สือมวลชนว่า เขาตั้งใจว่าถ้ารอดชีวิตกลับบ้านได้เขาจะออกแบบนกหวีดที่เป่าอย่างแรงแล้วไม่ติดขัดให้จงได
เมื่อรอนกลับถึงบ้านที่กรุงมอนทรีออล เขาก็เริ่มต้นด้วยการเขียนคุณลักษณะของนกหวีดชนิดใหม่ที่เขาอยากเห็น จากนั้นในวันรุ่งขึ้น รอนก็ไปปรึกษากับแดน บรูโน (Dan Bruneau) นักทำแม่พิมพ์ที่โรงฉีดพลาสติกในเมืองสโตนี่ ครีก (Stoney Creek) รัฐออนแทริโอ (Ontario) ซึ่งรับผลิตนกหวีดตามแบบ โรงฉีดพลาสติกได้แนะนำให้รอนไปขอความช่วยเหลือจากนักออกแบบของใช้พลาสติกชื่อ ชัค เชเฟอร์ด (Chuck Shepherd) สองวันต่อมา รอนก็ได้ปรึกษากับชัค จากนั้นไม่นานนัก ชักก็ออกแบบนกหวีดแบบแรก ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องความดัง แต่มีขนาดใหญ่เทอะทะเกินไป ในระยะเวลาสามปีครึ่ง ชัคกับรอนช่วยกันแก้ไขต้นแบบถึง 14 รอบ กว่าจะได้ต้นแบบของนกหวีดที่ใช้งานได้ 2 แบบ นกหวีดใหม่นี้ไม่มีเม็ดอยูข้างใน แต่สร้างเสียงโหยหวนขึ้นมาจากการแทรกสอดของเสียงนกหวีดสามท่อที่รวมอยู่ด้วยกันในนกหวีดตัวเดียว (คำว่านกหวีดสามท่อในที่นี้หมายถึงว่า ภายในตัวนกหวีดประกอบด้วยห้องกำทอนสามห้องวางขนานกัน แบ่งลมกันจากปากเป่าเดียวกัน จึงดูภายนอกคล้ายกับนกหวีดตระกูลหอยโข่งซึ่งมีห้องกำทอนเพียงห้องเดียว) รอนขอรับสิทธิบัตรนกหวีดใหม่นี้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1985 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดครบปีที่ 40 ของเขา (เป็นที่มาของเลข 40 ในชื่อนกหวีดฟ็อกซ์ 40) สิทธิบัตรหลักของเขาถูกยื่นขอใน ค.ศ. 1987 และเขาเริ่มได้รับสิทธิบัตรจากประเทศต่างๆ ที่ยื่นขอไว้ใน ค.ศ. 1989
เมื่อได้นกหวีดต้นแบบแล้ว รอนก็พยายามขอกู้เงินจากธนาคารมาผลิตนกหวีดแต่ไม่สามารถหาเงินกู้ได้ เขาจึงทุ่มเงินส่วนตัว 150,000 เหรียญแคนาดา ตั้งบริษัทนกหวีดฟ็อกซ์ 40 (Fox 40 International Inc.) ขึ้นในปี ค.ศ. 1987 แล้วเริ่มผลิตนกหวีด ฟ็อกซ์ 40 ขึ้นโดยหล่อชิ้นส่วนทั้ง 3 ชิ้นของนกหวีดด้วยการฉีดพลาสติก (injection molding) แล้วนำชิ้นส่วนมาประกอบให้ติดกันด้วยการเชื่อมด้วยเสียงความถี่สูง (ultrasonic welding) ซึ่งทำให้นกหวีดทนทานมากกว่าการใช้กาวเชื่อมตามปกติ
ในช่วงเวลานั้น รอนถูกกดดันจากมารี (Marie) ภรรยาของเขาให้ขายนกหวีดแบบใหม่ให้ได้ เนื่องจากขณะนั้นเรียกได้ว่ารอนเป็นหนี้ครอบครัวของเขาเองอยู่ 150,000 เหรียญแคนาดา ในขณะที่มีทรัพย์สินเป็นนกหวีดต้นแบบ 2 แบบ แต่ยังขายนกหวีดไม่ได้แม้แต่ตัวเดียว รอนรู้สึกว่าอีกไม่นานเขาอาจจะถูกภรรยาทิ้ง จึงตัดสินใจว่าจะต้องดำเนินการโปรโมทนกหวีดใหม่ของเขาโดยด่วน
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1987 ในการแข่งขันกีฬาแพนอเมริกันเกมส์ครั้งที่ สิบ (10th Pan American Games) ที่กรุงอินเดียนาโปลิส สหรัฐอเมริกา รอนอาศัยความเป็นคนวงใน นำนกหวีดสองตัวเข้าไปยังหอพักที่กรรมการตัดสินกีฬาประเภทต่างๆ พักรวมกันอยู่ แล้วเมื่อเวลาตี 2 ของวันใหม่ เขาก็เป่านกหวีดอย่างสุดแรงเกิด ในไม่กี่นาทีต่อมา กรรมการนับร้อยคน งัวเงียเปิดประตูห้องนอนออกมาในชุดนอน เพื่อจะมาดูว่าเสียงประหลาดและดังกึกก้องเช่นนี้เกิดมาจากอะไร วันรุ่งขึ้น รอนได้รับใบสั่งซื้อนกหวีดจำนวน 20,000 ตัว ที่ราคาตัวละ 6 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเทียบเท่า 8 เหรียญแคนาดา บริษัทของเขาจึงมีรายได้ 160,000 เหรียญแคนาดา ซึ่งมากกว่าเงินลงทุน 150,000 เหรีญแคนาดา ทำให้ภรรยาของเขาหยุดบ่น แต่ที่สำคัญคือทำให้นกหวีดฟ็อกซ์ แจ้งเกิดในวงการกีฬาระดับนานาชาติได้
นกหวีดฟ็อกซ์ 40 รุ่นแรก ซึ่งฟ็อกซ์โฆษณาว่าให้เสียงดังถึง 115 เดซิเบล เริ่มใช้เป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1987 ในการแข่งขันกีฬาแพนอเมริกันเกมส์ครั้งที่ 10 นั้นเอง และต่อมานกหวีดฟ็อกซ์ 40 ก็ได้รับการรับรองให้ใช้ในการแข่งขันกีฬาระดับประเทศของสหรัฐอเมริกาหลายประเภท เช่น บาสเก็ตบอลล์ ฮ็อคกี้ และอเมริกัน ฟุตบอลล์ เป็นต้น นอกจากนั้นยังได้ถูกใช้งานในกีฬาโอลิมปิกเมื่อ ค.ศ. 1988 ที่ประเทศเกาหลี ในการแข่งขันโอลิมปิก 1996 ที่กรุงแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา และในการแข่งขันฟุตบอลล์เวิลด์คัพหลายครั้ง
นอกจากการใช้งานในการแข่งขันกีฬาแล้ว ปัจจุบันนกหวีด ฟ็อกซ์ 40 ยังเป็นที่นิยมของนักเดินป่าล่าสัตว์ และหน่วยยามฝั่ง (coast guard) ทั่วโลก แต่กิจกรรมที่ทั้งทำรายได้และหน้าตาให้บริษัทฟ็อกซ์ คือ การใช้นกหวีดฟ็อกซ์ในการค้นหาผู้ประสบภัย ไม่ว่าจะเป็นกรณีแผ่นดินไหวที่นครซานฟรานซิสโกใน ค.ศ. 1989 กรณีผู้ก่อการร้ายระเบิดกรุงโอกลาโฮมาใน ค.ศ. 1995 กรณีผู้ก่อการร้ายทำลายตึกเวิล์ดเทรดเซนเตอร์ (9/11) ใน ค.ศ. 2001 กรณีเฮอริเคนคาทริน่า (Katrina) เคลื่อนที่ผ่านมลรัฐฟลอริดาและลุยเซียน่า ใน ค.ศ. 2005 กรณีเฮอริเคนวิลม่า (Wilma) ใน ค.ศ. 2005 เช่นเดียวกัน และ กรณีซึนามิรอบมหาสมุทรอินเดียใน ค.ศ. 2012 ในกรณีที่ผู้ประสบภัยมีนกหวีดติดตัวก็จะสามารถใช้นกหวีดส่งเสียงขอความช่วยเหลือได้เป็นระยะเวลานานโดยไม่ต้องตะโกน แต่ส่วนมากแล้วผู้ประสบภัยจะไม่มีนกหวีดติดตัว ผู้ที่ใช้นกหวีดในกรณีนี้เป็นพนักงานของทีมค้นหาผู้ประสบภัย ตัวอย่างเช่น ในกรณีตึกเวิล์ดเทรดเซนเตอร์ถูกถล่มนั้น ถ้าพนักงานกู้ภัยคนใดได้ยินเสียงที่สงสัยว่าจะเป็นเสียงร้องขอความช่วยเหลือ ก็จะเป่านกหวีดเป็นสัญญาณให้พนักงานกู้ภัยทุกคนหยุดส่งเสียงและหยุดใช้เครื่องมือที่มีเสียงดังเช่นเครื่องเจาะคอนกรีต และรีบนำไมโครโฟนความไวสูงมาตรวจสอบเพื่อหาแหล่งที่มาของเสียงขอความช่วยเหลือนั้น
นกหวีดยี่ห้อ Acme รุ่น Tornado 2000
ถึงแม้จะมีห้องกำทอนสามห้องเช่นเดียวกับ Fox 40 แต่ห้องกลางมีขนาดสั้นกว่า และสองห้องบนพ่นลมออกทางด้านบนของตัวนกหวีดแทนที่จะเป็นด้านข้าง
จาก BSN Sports Catalog, https://www.bsnsports.com/acme-tornado-2000
ถึงแม้จะมีห้องกำทอนสามห้องเช่นเดียวกับ Fox 40 แต่ห้องกลางมีขนาดสั้นกว่า และสองห้องบนพ่นลมออกทางด้านบนของตัวนกหวีดแทนที่จะเป็นด้านข้าง
จาก BSN Sports Catalog, https://www.bsnsports.com/acme-tornado-2000
การแข่งขันระหว่างฟ็อกซ์ 40 กับนกหวีดแอ็คมีชนิดใหม่ไม่มีเม็ด
ในปลายทศวรรษที่ 1980 เมื่อยักษ์ใหญ่อายุกว่า 120 ปีถูกทารกเมื่อวานซืนทาบรัศมี เจ ฮัดสัน แอนด์โค (วิสเซิล) จำกัด จึงตอบโต้ด้วยนกหวีดสามท่อรุ่นใหม่ของแอ็คมี่ นกหวีดนี้มีที่มาจากการดัดแปลงช่องเปิดหรือทางลมออกสองท่อบนของนกหวีดฟ็อกซ์ 40 ซึ่งชี้ออกไปด้านข้าง ให้ชี้ขึ้นในแนวดิ่ง เพื่อไม่ให้นิ้วของผู้เป่านกหวีดไปปิดทางลมออกได้ง่าย นอกจากนั้นยังลดความยาวของนกหวีดท่อล่างลง ทำให้ได้นกหวีดที่มีขนาดบางลง และไม่ซับซ้อน แต่ความได้เปรียบที่สำคัญสำหรับผู้ผลิตนกหวีดก็คือ นกหวีดยี่ห้อแอ็คมี่รุ่นน้องใหม่นี้ เอื้ออำนวยต่อการขึ้นรูปด้วยการฉีดพลาสติกเพียงสองชิ้น แล้วนำมาต่อกันเป็นนกหวีดที่สมบูรณ์ จึงมีต้นทุนที่ย่อมเยากว่านกวีดฟ็อกซ์ 40 ซึ่งต้องฉีดพลาสติกถึงสามชิ้น นกหวีดรุ่นใหม่นี้เรียกว่า นกหวีดยี่ห้อแอ็คมี่ รุ่น ทอร์เนโด 2000 ซึ่งได้รับสิทธิบัตรสหรัฐใน ค.ศ. 1991 และก่อนหน้านั้นไม่นาน คือใน ค.ศ. 1988 ได้ถูกใช้ในการแข่งขันเวิลด์ คัพ, ยูฟ่าแชมเปียนลีก (UEFA Champion League) และเอฟเอคัพ (F.A. Cup) รอบชิงชนะเลิศด้วย
นกหวีดรุ่น FOX 40 Pearl
มีห้องกำทอนเพียงสองห้อง และมีความดังเพียง 90 เดซิเบล
จาก KELME Catalog, https://www.weeblycloud.com/editor/main.php#/myapps
มีห้องกำทอนเพียงสองห้อง และมีความดังเพียง 90 เดซิเบล
จาก KELME Catalog, https://www.weeblycloud.com/editor/main.php#/myapps
อีกหลายปีต่อมา คือในปี ค.ศ. 1996 นายรอน ฟ็อกซ์ครอฟท์ คิดวิธีตอบโต้การลดต้นทุนในการผลิตนกหวีดได้ ด้วยการออกแบบนกหวีดที่มีรูปลักษณ์ภายนอกดูคล้ายกับนกหวีด ฟ็อกซ์ 40 ต้นตำรับของเขาเอง ผิดกันตรงที่มีท่อลมสองท่อ แทนที่จะเป็นสามท่อเหมือนกับรุ่นดั้งเดิม เรียกว่านกหวีดฟ็อกซ์ 40 รุ่นเพิร์ล (Pearl) ซึ่งให้เสียงดัง 90 เดซิเบล โดยโฆษณาว่าเป็นนกหวีดรุ่นประหยัดสำหรับการใช้งานที่อาจจะไม่ต้องการความดังเป็นพิเศษของรุ่นดั้งเดิม เช่น ใช้ในสถานศึกษา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับใช้ในการแข่งขันหลายสนามพร้อมๆ กัน ซึ่งไม่ต้องการนกหวีดที่เสียงดังมากจนไปรบกวนการแข่งขันในสนามข้างๆ อย่างไรก็ตาม ท่านผู้อ่านอย่าเข้าใจไปว่านกหวีดที่มีท่อลมสองท่อจะต้องให้เสียงดังน้อยกว่านกหวีดที่มีท่อลมสามท่อเสมอไป เพราะนกหวีดฟ็อกซ์ 40 สองรุ่นใหม่ ได้แก่รุ่นโซนิคบลาสต์ (Sonik Blast) และรุ่นช้ากซ์ (Sharx) ซึ่งเป็นนกหวีดแบบสองท่อทั้งคู่ ก็มีความดังไม่แพ้นกหวีดแบบสามท่อ โดยที่บริษัทฟ็อกซ์ให้ตัวเลขความดังของนกหวีดทั้งสองรุ่นไว้ถึง 120 เดซิเบล เป็นต้น
สามปีต่อมา ใน ค.ศ. 1999 แอ็คมี่ได้แก้ลำนกหวีดฟ็อกซ์รุ่นสองท่อลม ด้วยการประดิษฐ์นกหวีดแอ็คมี่รุ่นสองท่อลมขึ้นบ้าง นกหวีดนี้มีความถี่หลัก 3.9 กิโลเฮิร์ตซ์ ซึ่งเป็นเสียงเกือบจะแหลมที่สุดที่หูมนุษย์ยังมีความไวสูงอยู่ (หูมนุษย์มีความไวมากที่สุดที่ความถี่เสียงระหว่าง 1 ถึง 4 กิโลเฮิร์ตซ์) โดยเน้นจุดเด่นว่า ใช้ความดันในการเป่าเพียงเล็กน้อย คือเพียง 0.5 ปอนด์ต่อตารางนิ้วก็ได้เสียงนกหวีดที่มีความดัง 90 เดซิเบลซึ่งถ่วงน้ำหนักความดังของเสียงแบบเอ (เดซิเบลเอ หรือ dBA) จึงเหมาะสำหรับเด็ก คนชรา ผู้เป็นโรคหอบหืด ใครก็ตามที่กำลังเหนื่อยหอบ หรือกรรมการกีฬาที่ต้องเป่านกหวีดต่อเนื่องกันตลอดเกมส์ และถ้าเป่าอย่างแรงเต็มที่แบบที่กรรมการกีฬาทั่วไปเป่า ด้วยความดันอากาศ 1.2 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ก็จะได้ความดังถึง 120 เดซิเบลเอ นกหวีดใหม่รุ่นนี้ เรียกชื่อว่า แอ็คมี่ ไซโคลน
ค.ศ. 2000 - ค.ศ. 2010
สหศวรรษใหม่
ตั้งแต่ ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา เจ ฮัดสัน แอนด์โค (วิสเซิล) จำกัด ได้เปลี่ยนเจ้าของและผู้บริหารเป็นคนนอกตระกูลฮัดสัน ชื่อ นายไซม่อน ท็อปแมน (Simon Topman) ซึ่งเป็นลูกชายของนาย เอ อาร์ ท็อปแมน (A. R. Topman) ที่เคยเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปของ เจ ฮัดสัน แอนด์โค ในปลายทศวรรษที่ 1950 และในเมื่อบริษัทไม่ใช่ของตระกูลฮัดสันอีกต่อไปแล้ว ไซม่อนจึงเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “แอ็คมี่ วิสเซิล จำกัด” ให้ตรงกับยี่ห้อของนกหวีดที่ผลิตขึ้น อันเป็นการเพิ่มความเข้มแข็งและมูลค่าให้แก่แบรนด์ “แอ็คมี่” อีกด้วย
ตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 2000 บริษัทแอ็คมี่ วิสเซิล จำกัด ผลิตนกหวีดออกมาประมาณปีละ 5 ล้านตัว และมีนกหวีดที่ได้เคยผลิตจำหน่ายแล้วตั้งแต่สองพี่น้องตระกูลฮัดสันตั้งบริษัทฯ นับได้เกือบหนึ่งพันล้านตัว โดยมีปัจจุบันบริษัทฯ ยังต้องทำการวิจัยและพัฒนาการประดิษฐ์ใหม่ๆ เกี่ยวกับนกหวีดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อแข่งขันกับนกหวีดจากประเทศจีน
โดยสรุป ในทศวรรษแรกของสหัสวรรษใหม่ นกหวีดทรงหอยทากที่มีเม็ดไม้ก๊อกอยู่ข้างใน มียี่ห้อ แอ็คมี่ เป็นยี่ห้อหลัก ยกเว้นในสหรัฐอเมริกา ส่วนนกหวีดชนิดที่ไม่มีเม็ดไม้ก๊อกอยู่ข้างในนั้น ตลาดถูกแบ่งกันระหว่าง นกหวีดตระกูลฟ็อกซ์ 40 กับนกหวีดตระกูล ทอร์เนโด ของแอ็คมี่
ปัจจุบัน ค.ศ. 2010 - ค.ศ. 2020
การแข่งขันจากจีน
ในปี ค.ศ. 2014 ขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ ผู้เขียนทดลองสืบค้นในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ด้วยคำสำคัญว่า whistle (นกหวีด) กับคำว่า china (จีน) ได้พบนกหวีดรุ่นต่างๆ จากจีนถึงกว่าหนึ่งหมื่นรุ่น จากการสำรวจของผู้เขียนในที่ชุมนุมทางการเมืองระหว่าง พ.ศ. 2556 - 2557 (ค.ศ. 2013-2014) กว่าร้อยละเก้าสิบห้าของนกหวีดที่ขายกันอยู่ตามแผงลอยข้างถนน มีที่มาจากจีน (และเกาหลี) ส่วนใหญ่เป็นนกหวีดเสียงเดียวกันแต่ต่างกันที่รูปลักษณภายนอก และส่วนน้อยเป็นนกหวีดลอกแบบจากนกหวีดฝรั่ง ได้แก่รุ่น Acme Tornado 2000 และรุ่น Metropolitan นกหวีดเสียงเดียวสีสวยๆ ตั้งราคาไว้ระหว่างตัวละ 10 ถึง 30 บาท ในขณะที่นกหวีดลอกแบบฝรั่งราคาประมาณตัวละ 100-200 บาท แต่นกหวีดฝรั่งของจริง ซึ่งต้องไปซื้อตามห้าง ราคาตัวละ 200 บาทขึ้นไป จนถึงเกือบตัวละหนึ่งพันบาท จึงไม่น่าแปลกใจว่า เพราะเหตุใดนกหวีดของจีนจึงเป็นที่นิยมมากที่สุด
เอกสารอ้างอิง
กำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุง ขออภัยในความไม่สะดวก
รูปแถมพิเศษ
ผู้ชุมนุมทางการเมืองรายหนึ่ง อวดหมวกที่ประดับด้วยนกหวีดโดยรอบ
ถ่ายเมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2557 ที่หน้าสวนลุมพินี
ถ่ายเมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2557 ที่หน้าสวนลุมพินี