ความประทับใจเมื่อเข้าเฝ้าฯ กราบถวายบังคมลา
เลอสรร ธนสุกาญจน์
๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๙
๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๙
ในช่วงเวลาไม่กี่วันหลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสู่สวรรคาลัย ได้มีการตีพิมพ์บทความเป็นจำนวนมาก ที่แสดงถึงพระราชอัจฉริยภาพ และพระมหากรุณาธิคุณในด้านต่างๆ ทั้งในด้านการพัฒนาชนบท ด้านการเกษตรและชลประทาน ด้านการแพทย์ ด้านการศึกษา ด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านการกีฬา ฯลฯ ไม่ว่าจะเขียนจากการรวบรวมพระราชกรณียกิจ หรือเขียนตามประสบการณ์ตรง จากการที่ผู้เขียนบทความเหล่านั้นได้เคยถวายงานด้านต่างๆ บทความเหล่านี้ทำให้ผู้เขียนรำลึกถึงการที่ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้เข้าเฝ้าฯ กราบถวายบังคมลาก่อนจะออกเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศด้วยทุนเล่าเรียนหลวง ซึ่งถึงแม้จะเป็นประสบการณ์สั้นๆ และดูจะเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับบทความเฉลิมพระเกียรติที่ผู้อื่นได้เขียนไว้ แต่ในความรู้สึกของผู้เขียนแล้ว เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ผู้เขียนเกิดความประทับใจอย่างยิ่งในพระราชอัจฉริยภาพที่ยังไม่ค่อยได้ยินผู้ใดกล่าวถึง ผู้เขียนจึงได้พยายามเรียบเรียงความคิดออกมาเป็นบทความสั้นๆ เพื่อเป็นการถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
เป็นเวลากว่าสี่ทศวรรษมาแล้ว ที่ผู้เขียนได้เข้าเฝ้าฯ กราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก่อนออกเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศด้วยทุนเล่าเรียนหลวง ซึ่งพระองค์ท่านได้มีพระราชดำริให้รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ใน พ.ศ. ๒๕๐๘ จากทุน King’s Scholarship ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ แต่ก็มีอันถูกระงับไปตั้งแต่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕
เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ เวลา ๑๒.๐๕ น. พันเอกจินดา ณ สงขลา เลขาธิการ ก.พ. ได้นำนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงหกคน อันได้แก่ นายดำรง เกษมเศรษฐ์ นายสุวัฒน์ ธนียวัน นายวิทิต รัชชตาตะนันท์ นายภาสกร ขันธ์นะภา นางสาวกอบกุล ว่องพูลสิน (ภายหลังเปลี่ยนนามสกุลเป็น รายะนาคร) และผู้เขียน เข้าเฝ้าฯ กราบถวายบังคมลาและรับพระราชทานพร จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ดังในรูปข้างบน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับบนพระเก้าอี้โซฟาในขณะที่พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่พวกเรา ซึ่งหมอบกราบอยู่บนพรมแทบพระบาทของพระองค์ท่าน
หลังจากพระราชทานพระบรมราโชวาท ซึ่งผู้เขียนจำได้รางๆ ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเพียรในการแสวงหาความรู้ พระองค์ท่านก็ทรงลุกขึ้นยืน พวกเราซึ่งไม่คุ้นกับการหมอบคลานเริ่มขยับแขนขาที่เป็นเหน็บชาอ่อนๆ จากการหมอบกราบอยู่ท่าเดียวเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทันใดนั้นเลขาธิการ ก.พ. ก็กราบบังคมทูลขึ้นอย่างว่องไวว่า นายภาสกร ขันธ์นะภา นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงซึ่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนจิตรลดา ขอพระราชทานพระสมเด็จจิตรลดา ให้แก่นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงทั้งหกคน เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว และเป็นกำลังใจให้ขวนขวายเล่าเรียนจนสำเร็จตามพระบรมราโชวาท
|
สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่ได้อยู่ในวงการวัตถุมงคล ผู้เขียนขอเล่าเป็นเกร็ดความรู้ให้ฟังว่า พระสมเด็จจิตรลดาจัดเป็นหนึ่งในสุดยอดพระมหามงคล เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกดผงมวลสารเข้าไปในแม่พิมพ์ให้เป็นองค์พระด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง มวลสารที่ว่านี้ประกอบด้วยวัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์จากทุกจังหวัดในประเทศไทย ผสมกับวัตถุมงคลในพระองค์ เช่น เส้นพระเจ้า (เส้นผม) เป็นต้น ในสมัยประมาณพุทธทศวรรษที่ ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระสมเด็จจิตรลดา พร้อมเอกสารแสดงหมายเลข (serial number) แก่ทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน ที่ถวายงาน และที่ต้องเผชิญกับผู้ก่อการร้ายตามจังหวัดชายแดนของประเทศ โดยที่พระองค์มีพระราชดำรัสแก่ผู้รับพระราชทานแต่ละรายว่า “ให้ปิดทองเฉพาะที่หลังองค์พระ” ซึ่งพระองค์ได้เคยพระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ด้วยว่าการปิดทองหลังองค์พระหมายถึงการทำความดีที่ไม่จำเป็นต้องประกาศให้ผู้อื่นรู้ การทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ และการถือว่าความสำเร็จในการทำหน้าที่เป็นบำเหน็จรางวัลที่สมบูรณ์แล้ว ปัจจุบันผู้คนมักไม่ค่อยนึกถึงพระสมเด็จจิตรลดาในฐานะเป็นกุศโลบายของพระองค์ท่านที่จะให้ข้าราชการมีกำลังใจทำความดีแบบปิดทองหลังพระ แต่มักจะนึกถึงพระสมเด็จจิตรลดาในฐานะเป็นพระเครื่องศักดิ์สิทธิ์ที่มีจำนวนจำกัด จึงเป็นที่ต้องการของผู้คนทั่วไป ดังจะเห็นได้จากการที่เว็บไซต์พระเครื่องประเมินราคาไว้องค์ละเป็นหลักล้านบาท
แทนที่จะเสด็จขึ้น การกราบบังคมทูลของเลขาธิการ ก.พ. ดังกล่าวเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับลงบนพระเก้าอี้โซฟาอีกครั้งเพื่อพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่พวกเราต่อไป ผู้เขียนจำได้อย่างแม่นยำว่าประโยคแรกของพระบรมราโชวาทคือ “การที่เราจะเป็นคนดีหรือคนชั่วไม่ได้อยู่ที่ว่าเราห้อยอะไรไว้ที่คอ แต่อยู่ที่การกระทำของเราเอง” จากนั้นก็มีพระบรมราชาธิบายอย่างละเอียดต่อไปอีกเป็นเวลานาน ถึงการเชื่อในผลการกระทำของเราเองมากกว่าเชื่อในอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้เขียนกะประมาณจากความชาของขาซึ่งหมดความรู้สึกไปแล้วว่าพระบรมราชโชวาทช่วงนี้น่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่าสิบห้านาที จบลงด้วยว่าไม่พระราชทานพระสมเด็จจิตรลดาตามคำกราบบังคมทูลขอพระราชทาน แล้วก็เสด็จขึ้น
การที่ได้รับพระราชทานพระบรมราโชวาทรอบพิเศษ แทนที่จะได้รับพระราชทานพระสมเด็จจิตรลดา ทำให้ผู้เขียนเกิดความประทับใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้ผู้เขียนได้ประสบกับตัวเอง ว่านอกเหนือจากพระปรีชาสามารถในด้านต่างๆ ที่พวกเรามักจะทราบกันดีอยู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมีพระราชอัจฉริยภาพอย่างสมดุล ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทรงเลือกใช้กุศโลบายที่เหมาะสมกับบุคคลแต่ละกลุ่ม ในการกระตุ้นให้ทำความดีเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม
ผู้เขียนรำลึกถึงภาพยนตร์สารคดีเฉลิมพระเกียรติเรื่องหนึ่ง ซึ่งถ่ายทำที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ได้ว่า เดิมทีเดียวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเข้าศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ตามความสนพระราชหฤทัย แต่หลังจากทรงขึ้นครองสิริราชสมบัติอย่างกะทันหันใน พ.ศ. ๒๔๘๙ พระองค์ก็ได้ทรงเปลี่ยนไปทรงศึกษาในสายรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวมทั้งได้ทรงลงทะเบียนเรียนวิชาในกลุ่มนิติศาสตร์เป็นจำนวนหลายวิชาในปีการศึกษาสุดท้าย ข้อมูลจากภาพยนตร์ดังกล่าวทำให้ผู้เขียนพอจะเชื่อมโยงเหตุการณ์ได้ว่า ต่อมาหลังจากเสด็จนิวัติประเทศไทยและทรงเข้าพิธีบรมราชาภิเษกได้สิบห้าปี ท่ามกลางยุคสงครามเย็นระหว่างกลุ่มประเทศเสรีนิยมที่นำโดยสหรัฐอเมริกา กับกลุ่มประเทศในค่ายสหภาพโซเวียต ซึ่งทำให้ไทยต้องรักษาตัวให้รอดจากภัยของประเทศมหาอำนาจ ที่ให้การสนับสนุนผู้ก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนตามทฤษฎีดอมิโน (domino theory) และที่พยายามใช้ไทยเป็นฐานในการสกัดกั้นกลุ่มประเทศค่ายตรงข้าม ในขณะที่ไทยต้องต่อสู้กับปัญหาการปลูกฝิ่นของชนกลุ่มน้อย และปัญหาความยากจนของคนไทยเองเป็นต้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงใช้พระราชอัจฉริยภาพด้านรัฐศาสตร์ ทรงประดิษฐ์พระสมเด็จจิตรลดาขึ้นมาสำหรับข้าราชการที่ต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจในขณะปฏิบัติราชการที่ยากลำบากหรือมีความเสี่ยงภัยสูงเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติ โดยความดีที่เขาได้ทำลงไปนั้น แทบจะไม่มีผู้ใดได้รู้เห็น
แต่สำหรับเด็กรุ่นใหม่อย่างนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง ที่มีอายุเพียงสิบแปดปีแต่มีศักยภาพที่จะเป็นกำลังของประเทศในอนาคต พระองค์กลับทรงใช้พระราชอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์ ในการสอนให้พวกเรารู้จักพึ่งตนเอง และให้รู้จักใช้ความคิดเป็นเหตุเป็นผล แทนที่จะเอาแต่คิดพึ่งพิงอำนาจลึกลับของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กล่าวโดยย่อก็คือทรงฝึกให้พวกเราคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และยึดกฎแห่งกรรมตามหลักพุทธศาสนานั่นเอง
เวลาผ่านไปกว่าหนึ่งทศวรรษ เมื่อผู้เขียนได้รับปริญญาตรี ปริญญาโท และกำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ก็ได้ข่าวจากท่านผู้ใหญ่ในราชสกุลท่านหนึ่งที่มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าพระองค์ท่านทรงเปรยๆ ถึงนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงว่า “ก่อนไปก็มาลา ไปแล้วก็หายไปเลย” นี่เป็นสาเหตุให้ผู้เขียนตัดสินใจกลับมาทำงานในประเทศไทยเป็นคนแรกๆ ของรุ่น หลังจากเรียนจบปริญญาเอกแล้ว และได้ร่วมระดมความคิดกับสำนักงาน ก.พ. เพื่อแก้ไขระเบียบทุนเล่าเรียนหลวง จากเดิมที่เป็นการให้เปล่าแบบให้รางวัล (award) ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นต้องกลับมาทำงานในประเทศไทยอย่างน้อยก็ระยะหนึ่ง (ปัจจุบันเป็นระยะเวลาเท่ากับเวลาที่ได้รับทุน) โดยไม่บังคับว่าจะต้องทำงานในระบบราชการ
เวลาผ่านไปอีกหนึ่งทศวรรษ ใน พ.ศ. ๒๕๓๙ ประชาชนคนไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์พระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก เนื่องในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก คติธรรมจากชาดกฉบับพระราชนิพนธ์นี้มีหลายประเด็น เป็นต้นว่าการลงมือทำด้วยความเพียรพยายาม การแก้ปัญหาโดยใช้องค์ความรู้และสติปัญญา การมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการดำรงชีวิต และการเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะเป็นต้น แต่คติธรรมที่ทำให้ผู้เขียนระลึกถึงพระบรมราโชวาทเมื่อวันที่พวกเราเข้าเฝ้าฯ กราบถวายบังคมลา ก็คือการพึ่งตนเอง แม้เมื่อมีความลำบากก็ไม่เอาแต่แบมือขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หากแต่ให้พยายามยืนบนลำแข้งของตนเอง ดังเช่นพระมหาชนก ซึ่งแม้จะทรงว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทรมาแล้วถึง ๗ วันโดยไม่เห็นฝั่ง ก็ไม่ทรงร้องไห้คร่ำครวญหรืออ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากนางมณีเมขลา ซึ่งมาปรากฎตัวต่อพระพักตร์เป็นต้น
โดยสรุป ผู้เขียนได้ดำรงชีวิตด้วยการพึ่งตนเองโดยไม่หวังแต่จะพึ่งพาอำนาจลึกลับของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามแนวทางของพระบรมราโชวาทที่พระราชทานไว้เมื่อครั้งที่ผู้เขียนได้เข้าเฝ้าฯ กราบถวายบังคมลาไปศึกษาต่อในต่างประเทศด้วยทุนเล่าเรียนหลวง พร้อมกับทำงานแบบปิดทองหลังพระตลอดสี่ทศวรรษที่ผ่านมาแม้จะไม่เคยได้รับพระราชทานองค์พระมาให้ปิดทอง อันที่จริงหากเรื่องนี้จะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจลึกลับเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็คงจะเป็นพระบรมราโชวาทนั่นแหละที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะแม้จะเคยหวุดหวิดไปบ้างแต่ผู้เขียนก็แคล้วคลาดจากภยันตรายมาตลอด แถมยังได้มีโอกาสทำงานสำคัญเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติมาหลายครั้งก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ ด้วยเหตุดังกล่าวผู้เขียนจึงรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานหลักการดำเนินชีวิตอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ให้ในครั้งนั้น อันเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้
ผู้เขียนขอขอบพระคุณ รองศาสตราจารย์นิรมล สวัสดิบุตร และผู้ช่วยศาสตราจารย์กวิสรา รัตนากร แห่งคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้กรุณาตรวจแก้ภาษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้คำราชาศัพท์ ในข้อเขียนนี้
ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับพระสมเด็จจิตรลดา ได้มาจากบันทึกความทรงจำของพลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร เพื่อนรุ่นพี่ท่านหนึ่งของผู้เขียน ที่ตีพิมพ์ไว้ในหนังสือ "รอยพระยุคลบาท" ตามที่มีผู้คัดลอกมาไว้บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่ http://thaprajan.blogspot.com/2011/07/blog-post.html (เข้าถึงเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๙)
ผู้เขียนขอขอบพระคุณว่าที่ ร้อยตรี นันทเดช โชคถาวร ซึ่งได้ถ่ายรูปพระสมเด็จจิตรลดาไว้ และได้มอบให้เป็นสมบัติสาธารณะ ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พระสมเด็จจิตรลดา#/media/ไฟล์:พระสมเด็จจิตรลดา12may2014.PNG
ดร. เลอสรร ธนสุกาญจน์ ผู้เขียนบทความนี้ เป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง พ.ศ. ๒๕๑๖ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีว่าด้วยนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อดีตอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อกพ.) วิสามัญเกี่ยวกับระบบบริหารงานบุคคลภาครัฐ คณะที่ ๓ ด้านการจัดสรรทุนรัฐบาลและเตรียมกําลังคนภาครัฐ